การศึกษาการใช้สนามแม่เหล็กเพื่อลดการก่อตัวของตะกรันหินปูน
“ตะกรัน” (scale) ผลึกของแข็งคล้ายซีเมนต์ เกิดจากแร่ธาตุต่าง ๆ ตกผลึกแยกออกจากน้ำ ส่วนใหญ่เป็นพวกหินปูน (CaCO3) และอาจมีสารอินทรีย์อื่น ๆ อุดตันเกาะและพอกพูนในท่อน้ำหรือถังเก็บน้ำ เมื่อตะกรันพอกหนามากขึ้นเรื่อย ๆ จะขัดขวางการไหลของน้ำและอาจรุนแรงจนทำให้ท่อระเบิดหากไม่ได้รับการแก้ไขหรือการบำรุงรักษาที่ถูกวิธี
โดยทั่วไปเราจะกำจัดหรือแก้ไขปัญหาข้างต้นด้วย 2 วิธีหลัก คือ การใช้สารเคมีและการเปลี่ยนท่อน้ำ แต่วิธีดังกล่าวอาจไม่เหมาะสมเนื่องจากก่อให้เกิดสารพิษตกค้างตามมา ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหาวิธีอื่นในการป้องกันและแก้ปัญหาการอุดตันของตะกรันในท่อส่งน้ำ เช่น การใช้สนามแม่เหล็ก ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย สะดวก ต้นทุนต่ำ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เนื่องจากโมเลกุลของน้ำมีคุณสมบัติที่มีความเป็นขั้วจากอะตอมไฮโดรเจนและออกซิเจน เมื่อผ่านแรงหรือสนามแม่เหล็กจะทำให้เกิดการหมุนและปรับเปลี่ยนโมเลกุลไปในทิศทางเดียวกัน โดยประสิทธิภาพจะขึ้นกับความแรงของสนามแม่เหล็กและระยะเวลาที่ได้รับสนามแม่เหล็ก อันจะส่งผลให้ตะกอน CaCO3 มีสภาพเปียก เกิดการละลายมากขึ้น รวมไปถึงยับยั้งการก่อตัวของ CaCO3
ในสภาวะทั่วไปที่ไม่มีสนามแม่เหล็ก CaCO3 จะมีโครงสร้างที่เรียกว่า แคลไซต์ (calcite) ที่ก่อให้เกิดความกระด้างของน้ำ แต่เมื่อประยุกต์ใช้สนามแม่เหล็ก โครงสร้างตะกอน CaCO3 ที่ก่อตัวขึ้นจะอยู่ในรูปอราโกไนต์ (aragonite) ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ไม่ก่อให้เกิดน้ำกระด้าง
ดังนั้นการประยุกต์ใช้อุปกรณ์ที่ให้สนามแม่เหล็กจะช่วยลดการก่อตัวของตะกรันหินปูน ทำให้สามารถลดการใช้สารเคมี เช่น สารซักฟอก สารลดความกระด้าง เกลือชนิดต่าง ๆ กรด และอื่น ๆ นอกจากนี้ยังช่วยยืดอายุการใช้งานและป้องกันการเกิดหินปูนในท่อส่งน้ำสำหรับการเกษตร การประปา และโรงงานอุตสาหกรรมหลายประเภท