งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาการผลิตไบโอดีเซลโดยใช้น้ำมันปาล์มทำปฏิกิริยากับเมทานอลที่มีแมกนีเซียมไพโรฟอสเฟต (Mg2P2O7) เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ผ่านการเปรียบเทียบประสิทธิภาพของตัวเร่งปฏิกิริยาเมื่อใช้สารตั้งต้นที่แตกต่างกัน 3 ชนิด Mg2P2O7 สามารถสังเคราะห์ได้จากการสลายตัวทางความร้อนของสารตั้งต้นต่าง ๆ ได้แก่ ดิตมาไรต์ (NH4MgPO4·H2O) สตรูไวต์ (NH4MgPO4·6H2O) และ นิวเบอร์ไยต์ (MgHPO4·3H2O)
ใช้ Mg2P2O7 ดังกล่าวเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาเพื่อสังเคราะห์ไบโอดีเซลผ่านกระบวนการทรานส์เอสเทอริฟิเคชัน ศึกษาคุณสมบัติทางเคมี/ทางกาพภาพของตัวเร่งและผลของสภาวะที่ใช้ในปฏิกิริยาทรานส์เอสเทอริฟิเคชันต่อปริมาณไบโอดีเซล ผลการวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่า ปริมาณไบโอดีเซลลดลงเมื่อตัวเร่งปฏิกิริยามีขนาดผลึกและขนาดอนุภาคที่ใหญ่ขึ้น ในทางตรงกันข้าม ปริมาณไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นเมื่อความหนาแน่นของบริเวณที่มีลักษะที่เป็นเบส (basic site density) และพื้นที่ผิวของตัวเร่งเพิ่มขึ้น
ผลการศึกษาพบว่า สตรูไวต์เหมาะสมสำหรับใช้เป็นสารตั้งต้นเพื่อเตรียมตัวเร่งปฏิกิริยาที่ให้คุณสมบัติทางเคมีและทางกาพภาพเหมาะสมเพื่อผลิตไบโอดีเซลสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับสารตั้งต้นชนิดดิตมาไรต์และนิวเบอร์ไยต์ และเมื่อใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาที่เตรียมได้จากสตรูไวต์ร่วมกับสภาวะของกระบวนการทรานส์เอสเทอริฟิเคชันที่เหมาะสมจะให้ปริมาณไบโอดีเซลมากที่สุด
จลนพลศาสตร์ของกระบวนการทรานส์เอสเทอริฟิเคชันเป็นปฏิกิริยาอันดับหนึ่งเทียม (pseudo-first-order kinetics) ซึ่งอัตราเร็วของปฏิกิริยาจะขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสารตั้งต้น นอกจากนี้ ได้คำนวณค่าทางจลนพลศาสตร์ต่าง ๆ ของกระบวนการทรานส์เอสเทอริฟิเคชัน ได้แก่ ค่าพลังงานก่อกัมมันต์ (activation energy) แฟคเตอร์ความถี่ (frequency factor) และค่าคงที่อัตรา (rate constant)
เนื่องจากตัวเร่งปฏิกิริยาที่สังเคราะห์ขึ้นมีสถานะเป็นของแข็ง (solid-state catalyst) จึงสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และสามารถลดปริมาณน้ำที่ใช้ในการบวนการล้างทำความสะอาดไบโอดีเซลเมื่อเปรียบเทียบกับตัวเร่งชนิดของเหลว (liquid-state catalyst) ทำให้สามารถลดต้นทุนสำหรับโรงงานผู้ผลิตไบโอดีเซลได้