การสังเคราะห์ฮูเรียไลท์และใช้เป็นสารตั้งต้นเพื่อเตรียมลิไทโอฟิไลต์สำหรับใช้เป็นขั้วแคโทดลิเทียมแบตเตอรี่
การทดลองนี้ได้สังเคราะห์สารประกอบฮูเรียไลท์ (Hureaulite) ซึ่งมีสูตรเคมีเป็น [Mn5(PO4)2[PO3(OH)]2(H2O)4] ด้วยวิธีการตกตะกอน ศึกษาการสั่นของพันธะเคมีพร้อมทั้งศึกษารูปแบบการเปลี่ยนแปลงเชิงความร้อนความร้อนของสารที่สังเคราะห์ จากข้อมูลการทดลองพบว่า ฮูเรียไลท์ จะเริ่มสลายเมื่อได้รับความร้อนสูงตั้งแต่ 165 °C ขึ้นไป และเมื่อสลายตัวอย่างสมบูรณ์จะได้สารประกอบผสมระหว่าง Mn2P2O7 และ Mn3(PO4)2 ที่มีลักษณะสัณฐานวิทยาแตกต่างกัน การสลายตัวเชิงความร้อนประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ได้แก่ กระบวนการขจัดน้ำขั้นตอนที่ 1 (first dehydration) การขจัดน้ำขั้นตอนที่ 2 (second dehydration) และการควบแน่น (polycondensation) ตามลำดับ
เมื่อบดผสมฮูเรียไลท์กับสารประกอบ Li3PO4 และ Li2CO3 แล้วเผาที่อุณหภูมิ 750 °C จะได้สารประกอบลิไทโอฟิไลต์ (Lithiophilite) ที่มีสูตรเคมีเป็น LiMnPO4 พร้อมทั้งพบความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลทางความร้อนกับข้อมูลการสั่นของพันธะเคมีของฮูเรียไลท์ นอกจากนี้ ได้ใช้วิธีการเลี้ยวเบนรังสีเอ็กซ์เพื่อศึกษาและพิสูจน์โครงสร้างผลึกของทั้งฮูเรียไลท์ สารประกอบผสมระหว่าง Mn2P2O7 และ Mn3(PO4)2 และลิไทโอฟิไลต์
สารประกอบลิไทโอฟิไลต์ (LiMnPO4) ดังกล่าวสามารถใช้เตรียมและขึ้นรูปเป็นขั้วแคโทด (Cathode electrode) ที่สามารถทดแทน ไตรไฟไลท์ (Triphylite, LiFePO4) สำหรับใช้เป็นลิเทียมไอออนแบตเตอรี่ (Li-ion battery) เนื่องจากให้ศักย์ไฟฟ้าที่สูงกว่า โดย LiMnPO4 มีศักย์ไฟฟ้าที่ 4.1 V ในขนะที่ LiFePO4 ให้ศักย์ไฟฟ้าเพียง 3.4 V นอกจากนี้สารกลุ่มลิเทียมฟอสเฟตนี้ยังมีความเสถียรเชิงโครงสร้างที่ดีกว่าสารกลุ่มลิเทียมออกไซด์ต่าง ๆ เช่น LiMn2O4 LiNiO2 และ LiCoO2 ดังนั้น สารประกอบที่เตรียมได้ คือ LiMnPO4 จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมและดีกว่าสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมลิเทียมแบตเตอรี่